Posted by: thanasaksuksong | เมษายน 27, 2009

ตอนที่ 1 : แรงบันดาลใจ



ผลพวงจากปัญหาวิกฤตทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งภายในประเทศและจากภายนอกประเทศในปัจจุบัน  กระทบต่อเนื่องไปถึงปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง  และสังคม  สุดท้ายปัญหาวิกฤติทั้งหมดก็กองสุมรวมอยู่ในระดับปัจเจกชนกันอย่างทุกถ้วนหน้า   ยิ้มสยามที่เคยเปล่งปลั่งยั่งยืนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของปวงชนชาวไทยค่อยเลือนรางจางหายกลายเป็นความเคร่งเครียดมึนตึงเข้าหากัน  ครอบครัวเครือญาติที่เคยกลมเกลียวเหนียวแน่นก็กลับบาดหมางห่างเหินต่อกัน  บรรยากาศของสังคมแห่งความสันติสุขของชาวพุทธผู้อยู่ในศีลในธรรมกลับเลือนลางจางหายกลายเป็นความขัดแย้งขุ่นมัว   และทิศทางของปัญหายังดิ่งถลำลึกไม่มีทีท่าจะพลิกฟื้นกลับคืนมาสู่สภาพเดิมอย่างง่ายดาย

เสียงบ่นจากผู้คนส่วนใหญ่ถึงความทุกข์  ความผิดหวัง  ความล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำอีก  บริษัทห้างร้าน  ธุรกิจการงาน  การค้าขายต่างจ่อคิวปิดกิจการเลิกจ้างคนงานกันอย่างต่อเนื่อง       นักบริหาร      นักธุรกิจ  นักประดิษฐ์คิดค้น    ที่เคยได้รับการยอมรับยกย่องให้ขึ้นหน้าปกวารสารว่าเป็นผู้ประสพความเสร็จในหน้าที่การงานนับวันจะหายากยิ่ง  กลับมีแต่ข่าวคราวของผู้ประสพความล้มเหลวเข้ามาแทนที่   นี่เราจะปล่อยให้ล่องลอยเคว้งคว้างไปตามกระแสสังคมอีกยาวนานสักเพียงใด

ข้าพเจ้าเองก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เคยถูกคลื่นวิกฤติโถมซัดพัดพาจนหาทิศทางเข้าฝั่งแทบไม่เจอ  ซึ่งไม่ต่างจากคนอื่นอีกจำนวนมากที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงให้รอดพ้นจากวิกฤติการณ์ในครั้งนี้ไปได้  ไม่ถูกโดยตรงก็เจอโดยอ้อม  ไม่โดนเต็ม ๆ ก็โดนเฉียด ๆ  ไม่โดนลูกแรกก็โดนลูกหลัง  หันมองไปรอบกายก็มีแต่ผู้คนล้มลุกคลุกคลานตะเกียกตะกายไม่ต่างจากสภาพการณ์ที่คลื่นสึนามิพึ่งเคลื่อนผ่านเมื่อไม่นานนี่เอง

หลังจากที่พยามยามลุกขึ้นต่อสู้ด้วยความดื้อรั้นดันทุรัง  สู้แล้วแพ้  สู้แล้วล้ม  สู้แล้วผิดหวังซ้ำซากครั้งแล้วครั้งเล่าจนอ่อนระโหยโรยแรงหน้าแห้งใจเหี่ยว   ความดันทุรังจึงค่อยดับลดหดหายผ่อนคลายการบีบคั้นใจกายให้สงบลง  เมื่อกายใจเริ่มสงบเป็นอิสระสติสัมปชัญญะก็เริ่มผุดขึ้นมาแทนที่   ถ้าจะดันทุรังสู้อย่างนี้ต่อไปคงมีแต่ทางตายกับไม่รอด  เมื่อสติมาปัญญาจึงเกิดฉุกคิดขึ้นมาว่า  ทางรอดแต่ไม่ตาย นั้นมีไหม?  หนทางที่สู้แล้วชนะนั้นมีไหม?   เส้นทางสู่การประสพความสำเร็จนั้นอยู่ที่ใด  ถ้ามีจะค้นหาต้นทางนั้นได้อย่างไร?

หลังจากครุ่นคิดค้นหาอยู่หลายตะหลบ ความทรงจำจุดประกายแวบหวนคิดถึงหนังสือเก่าเก็บอันทรงคุณค่าที่เคยอ่านแล้วยกตั้งไว้เหนือหิ้งเมื่อหลายสิบก่อน  และแล้ว!..!  สิ่งศักดิ์สิทธิ์อาจจะดลจิตดลใจให้รำลึกนึกถึง  ข้าพเจ้ารีบไปค้นหาหนังสือดังกล่าว   ได้พบจริงๆ  แม้ว่าสภาพอาจจะเก่าจนมีร่องรอยการกัดแทะของมดปลวกอยู่บ้างในบางส่วน  แต่เนื้อหาโดยรวมครบถ้วนสมบูรณ์ดี  เล่มแรกคือศิลปเคล็ดลับในการเป็นมหาบุรุษ  เขียนโดย  วิเทศกรณีย์  และอีกเล่มคือ  ชีวิตคือการต่อสู้  โดยผู้เขียนคนเดียวกัน  เป็นหนังสือที่พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2509  และครั้งที่สองเมื่อ  พ.ศ. 2511  ซึ่งนับย้อนหลังไปได้สี่สิบกว่าปี

วิเทศกรณีย์คือนามปากกาของหลวงวิจิตรวาทการ  นักการทูต  นักเขียนนามอุโฆษอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล  ซึ่งเป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนยุคนั้นที่ต่างชาติให้การยอมรับ  ที่สำคัญยิ่ง  หลวงวิจิตรวาทการเป็นนักเขียนทางจิตวิทยาประเภทปลุกใจได้ดีมาก  และที่สำคัญกว่านั้น  ท่านเป็นนักต่อสู้ที่แท้จริง  ท่านเกิดเมื่อวันพฤหัสที่  11  สิงหาคม  พ.ศ.  2441  ท่านได้เขียนประวัติไว้ตอนหนึ่งว่า

“ข้าพเจ้าเกิดบนแพ ริมแม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี เมื่อรู้ความ เห็นบิดามารดาของข้าพเจ้ามีเรือพายม้าลำหนึ่ง แม่แจวหัว และพ่อแจวท้าย พวกข้าพเจ้าเป็นพวกมีลูกมาก แม่ของข้าพเจ้ามีลูกถึง 8 คน

“แม่ของข้าพเจ้าถึงแก่กรรมตั้งแต่ตัวข้าพเจ้ายังเล็ก ข้าพเจ้าเริ่มลำดับความต่างๆ ได้ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ จำได้ว่าพ่อเคยเขียน ก. ข. ใส่กระดานชนวนไว้ให้ในเวลากลางคืน และพอ 4 นาฬิกา ก็ต้องแจวเรือไปค้าขายสองคนกับแม่ เวลานอนก็นอนกับย่า    ซึ่งเป็นคนจดจำนิยายต่างๆ ไว้ได้มาก    และเล่าให้ฟังเสมอ จนกระทั่งเรื่องสังข์ทอง เรื่องรามเกียรติ์ เรื่องอิเหนา เรื่องพระอภัยมณี และเรื่องขุนช้างขุนแผนเหล่านี้ อยู่ในสมองของข้าพเจ้าหมดก่อนที่จะลงมืออ่านได้เอง เมื่ออายุ 8 ขวบ ได้เข้าโรงเรียนวัดขวิด ตำบลสะแกกรัง สอบไล่ได้ชั้นประโยคประถม พ่อแม่ไม่มีทุนจะให้เข้าศึกษาต่อไป จึงเปลี่ยนวิธีใหม่ ได้เข้าศึกษาในทางธรรมอยู่ในวัดมหาธาตุตั้งแต่อายุ 13 ขวบ จนถึงอายุ 20 ปี สอบไล่ได้เปรียญ 5 ประโยค จึงออกจากวัด”

และจากบันทึกประวัติการทำงานของหลวงวิจิตรวาทการตอนหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า “ชีวิตของหลวงวิจิตรวาทการ เป็นชีวิตของผู้มีวิริยะมานะกล้าในการทำความดี ได้ต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ ในชีวิต เพื่อให้ได้มาซึ่งความเจริญ ชีวิตของท่านได้ดำเนินมาหลายบทบาท เริ่มจากการเป็นนักธรรม เป็นข้าราชการ นักการเมือง นักการทูต เป็นครู – อาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นนักประพันธ์ เป็นนักปราชญ์ จากสามเณรเปรียญ 5 ประโยค ท่านได้รับพระราชทานปริญญาบัตรเศรษฐศาสตร์สหกรณ์ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2504 ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางการทูต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปีเดียวกัน และปริญญาบัตรอักษรศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2505”

แสดงว่า  แนวทางการต่อสู้และเคล็ดลับความสำเร็จที่หลวงวิจิตรวาทการ  โดยใช้นามปากกาว่า  วิเทศกรณีย์  ได้นำมาถ่ายทอดไว้ในหนังสือทั้งสองเล่นนั้น  ส่วนใหญ่เป็นประสบการณ์ตรงที่ท่านได้ใช้เป็นแนวทางในการต่อสู้กับปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ จนประสบความสำเร็จมาแล้ว  ไม่ได้รวบรวมเรียบเรียงจากหลักคิดวิธีการของผู้อื่นมาเพียงอย่างเดียว     หลักปรัชญาแนวคิด  ประสบการณ์ตรงในชีวิตจริงของหลวงวิจิตรวาทการผู้เคยพิชิตปัญหาสารพัดมาแล้วนั้นยิ่งเพิ่มความมั่นใจขึ้นได้เป็นทวีคูณ



ใส่ความเห็น

หมวดหมู่